Thursday, January 8, 2009

"ความบกพร่องทางการเรียน (Learning Disability) คืออะไร" โดย นันทณี เสถียรศักดิ์พงศ์


ความบกพร่องทางการเรียน (Learning Disability) คืออะไร
นันทณี เสถียรศักดิ์พงศ์
น้อยหน่า
ตอนที่อายุ 14 ปี น้อยหน่ายังคงเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูดจากับใคร ตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยหน่ามักหลีกเลี่ยงที่จะพูดจากับผู้คน จนบางครั้งทุกคนลืมไปว่ามีน้อยหน่าอยู่ที่นั่นด้วย น้อยหน่ามักตกอยู่ในภวังค์ความคิดของเธอเอง นานๆ จะพูดซักครั้ง เวลาที่น้อยหน่าเปิดปากพูดสนทนา น้อยหน่าก็มักเรียกชื่อวัตถุผิดๆ ถูกๆ บ่อยๆ เข้าน้อยหน่าแทบจะไม่มีเพื่อน และมักใช้เวลาส่วนใหญ่ของเธอหมดไปกับการเล่นกับตุ๊กตาหรือกับน้องสาวที่ยังเล็ก ที่โรงเรียนน้อยหน่าเกลียดการอ่านหนังสือและวิชาคณิตศาสตร์ เพราะว่า ตัวอักษร ตัวเลข หรือแม้แต่เครื่องหมาย + และ – ช่างไม่มีความหมายสำหรับเธอเอาเสียเลย น้อยหน่ารู้สึกกลัวตัวเอง เคยมีคนบอกเธอ และทำให้เธอเชื่อว่าเธอเป็นปัญญาอ่อน

มนตรี
มนตรีอายุได้ 46 ปี และยังคงมีปัญหาที่จะเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นๆ พูด ตอนที่เขายังเด็ก คำหลายคำฟังดูเหมือนกัน พ่อของมนตรีอดทนที่จะพูดสิ่งต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เมื่อไหร่ก็ตามถ้าแม่ของเขาเมา แม่มักพุ่งเข้ามาตีเขาด้วยเหตุผลที่เขาไม่ฟัง ภาษาพูดของมนตรีฟังดูขบขัน เขาช่างมีปัญหาในการพูดคำต่างๆ ซึ่งคุณครูที่โรงเรียนบางครั้งไม่เข้าใจเขาเอาเสียเลย เมื่อเพื่อนๆที่ชั้นเรียนเรียกเขาว่า “ไอ้โง่” มนตรีมักจะยกกำปั้นขึ้นมาให้

กานน
กานนอายุ 23 ปี และยังคงดูเหมือนว่ามีพลังงานเหลือเฟือ ตอนที่เป็นเด็กเขามักอยู่ไม่นิ่งเสมอ บางครั้งกระโดดบนเก้าอี้โซฟาได้เป็นหลายชั่วโมงจนกว่าเขาจะเหนื่อยอ่อนหมดแรงไปเอง ช่วงที่เรียนที่โรงเรียนเขาไม่เคยนั่งที่ได้ เขามักจะทำให้การเรียนการสอนหยุดชะงัก แต่ว่าเขาเป็นมิตรกับทุกคน เป็นเด็กดี ดังนั้นผู้ใหญ่ก็เลยไม่โกรธเขามากนัก ปัญหาการเรียนของเขาเริ่มเห็นเด่นชัดเมื่อเขาเรียนอยู่ประถมปีที่ 3 เมื่อคุณครูตระหนักรู้ว่ากานนจำคำได้ไม่กี่คำและเขียนยังกับเด็กที่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 1 และคุณครูแนะนำให้กานนเรียนซ้ำชั้นเพื่อให้เขามีเวลาที่จะเรียนให้ทันเพื่อนๆ หลังจากปีหนึ่งผ่านไป พฤติกรรมของเขายังไม่สามารถควบคุมได้ และการอ่านและการเขียนของเขาก็ไม่ดีขึ้นเลย
ความบกพร่องทางการเรียนแตกต่างจากความพิการอย่างอื่น เช่น การพิการแขนขา หรือ ตาบอด ความบกพร่องทางการเรียนเป็นความพิการที่ซ่อนเร้นอยู่ ความบกพร่องทางการเรียนไม่ได้ทิ้งร่องรอยที่ร่างกายหรือทิ้งอาการที่มองเห็นได้ซึ่งอาจช่วยทำให้คนอื่นเข้าใจหรือให้การช่วยเหลือ มีผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนใส่หน้ามนตรีว่า “คุณดูเป็นคนฉลาด คุณไม่เหมือนคนพิการ”
ความบกพร่องทางการเรียน เป็นความผิดปกติที่ส่งผลต่อความสามารถของบุคคลในการแปลความหมายสิ่งที่เห็น หรือ สิ่งที่ได้ยิน หรือ เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายส่วนของสมองเข้าด้วยกัน ข้อจำกัดในความสามารถดังกล่าวนี้สามารถก่อให้เกิดปัญหาในหลายรูปแบบ เช่น มีความยากลำบากในการพูด และ การเขียน สหสัมพันธ์ด้านการเคลื่อนไหว การควบคุมตนเอง หรือ สมาธิ ความยากลำบากเหล่านี้ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนและเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ที่จะอ่าน หรือ เขียน หรือ คิดคำนวณ
ความบกพร่องทางการเรียนเป็นสภาวะที่เกิดตลอดชีวิต ในบางรายอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของบุคคล ทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน การทำกิจวัตรประจำวัน ชีวิตครอบครัว และบางครั้งแม้แต่มิตรภาพและการเล่น ในบางรายอาจมีความบกพร่องทางการเรียนหลายด้านซ้อนกัน บางรายอาจมีความบกพร่องทางการเรียนเพียงด้านเดียว ซึ่งปัญหาความบกพร่องทางการเรียนเพียงด้านเดียวมีผลต่อการดำเนินชีวิตน้อย

การวินิจฉัยว่ามี “ความบกพร่องทางการเรียน” ไม่เหมือนกับพวกโรคหัด หรือ คางทูม ซึ่งมีสาเหตุเดียวในการก่อให้เกิดโรคดังกล่าว และสามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีอาการอย่างไร ความบกพร่องทางการเรียน เป็นคำที่กินความหมายที่กว้าง ครอบคลุมสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนจากหลายสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และ ผลการรักษา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารูปแบบของความบกพร่องทางการเรียนมีหลากหลาย จึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยหรือบอกสาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่มีใครทราบถึงยาหรือวิธีการรักษาที่จะใช้
ปัญหาทางการเรียนทุกปัญหาไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นความบกพร่องทางการเรียน เด็กจำนวนมากที่ช้าในพัฒนาการบางด้านหรือบางทักษะ เพราะเด็กมีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติในอัตราเร็วของพัฒนาการแต่ละด้าน ซึ่งบางครั้งอะไรที่ดูเหมือนว่าเป็นความบกพร่องทางการเรียนอาจเป็นเพียงมีพัฒนาการช้าเท่านั้น ในการวินิจฉัยโรคว่าเด็กมีความบกพร่องทางการเรียนหรือไม่ เด็กต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค
เกณฑ์และลักษณะสำหรับวินิจฉัยว่าเด็กมีความบกพร่องทางการเรียนปรากฏอยู่ในหนังสืออ้างอิงที่เรียกสั้นๆ ว่า ดีเอสเอ็ม (DSM) ซึ่งย่อมาจาก “The diagnostic and statistical Manual of Mental Disorders“ การวินิจฉัยโรคตามดีเอสเอ็มมักใช้ในกรณีที่มีการสมัครประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการบริการในการวินิจฉัยและการให้การบำบัดรักษา






No comments:

Post a Comment