Thursday, January 8, 2009

"มาทำความรู้จัก ผู้เรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ด้วยกัน" โดย กระทรวงศึกษาธิการ

มาทำความรู้จัก ผู้เรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ด้วยกัน นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพิเศษได้ให้คำจำกัดความ นักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้
( learning disabilities : LD ) พอสรุปได้ว่า ความบกพร่องในกระบวนการทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใจในการใช้ภาษาพูดหรือภาษาเขียน ซึ่งอาจแสดงออกทางความสามารถที่ไม่สมบูรณ์ในการฟัง การคิด การพูด การอ่าน การเขียน การสะกดคำหรือการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังคอบคลุมสภาพต่างๆ เช่น ความบกพร่องในการรับรู้ ภาวะที่สมองถูกกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย แต่เป้นความผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องทางร่างกาย ทางด้านการมองเห็น การได้ยิน และระดับสติปัญญา รวมทั้งสภาพด้อยโอกาสทางสังคม (ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ : 2543 ผดุง อารยะวิญญู : 2542 ศรียา นิยมธรรม : 2547)
ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ ( ผดุง อารยะวิญญู : 2539 ) พอสรุปได้ดังนี้
1. ปัญหาในการเรียน เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้มีปัญหาในด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ปัญหาทางภาษาจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป สำหรับปัญหาเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้
ขนาด เด็กไม่สามารถแยกความแตกต่างของขนาดและรูปทรงได้
การนับ เด็กอาจนับเลขไม่ได้
การใช้เครื่องหมาย เช่น การบวก การลบ การคูณ และการหาร
การคำนวณมักจะคำนวณผิดแม้จะใช้เครื่องหมายถูกก็ตาม
2. ปัญหาทางภาษา เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้มักมีปัญหาด้านการพูด และการใช้ภาษาแบ่งออกได้ ดังนี้2.1 การอ่านจะอ่านข้ามบรรทัด อ่านหนังสือไม่ออก
2.2 การจำคำ จะใช้คำอื่นแทนคำที่อ่าน อ่านสลับกัน
ความเข้าใจ จำเรื่องที่อ่านไม่ได้ ไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่อ่านไม่ได้ หรือไม่สามารถจับใจความสำคัญได้
ลักษณะอื่นๆ เช่น อ่านทีละคำ อ่านทีละพยางค์ มีปัญหาการอ่านคำตั้งแต่ 2 พยางค์ขึ้นไป ไม่สามารถนำพยางค์มารวมกันเป็นคำได้ ไม่เข้าใจความหมาย ไม่รู้จักการเว้นวรรค
3. ความบกพร่องทางการรับรู้ การรับรู้มีความหมายไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสเพื่อจำแนก จำ และแปลความหมาย โดยมรลักษณะปัญหาในการรับรู้ต่อไปนี้
3.1 การรับรู้ทางสายตา ได้แก่ การมองเห็นภาพแต่ไม่สามารถอธิบายภาพที่เห็นได้
3.2 การจำแนกภาพด้วยสายตา ได้แก่ การไม่สามารถรับรู้ความแตกต่างของ ภาพ สองภาพที่เหมือนกันได้
3.3 การจำโดยใช้สายตา หมายถึงการมองเห็นวัตถุสิ่งของแล้วจำไม่ได้ว่าเห็นอะไรบ้าง จำการเรียงลำดับของตัวอักษรไม่ได้
3.4 การรับรู้ทางการฟัง หมายถึงเด็กได้ยินเสียงแต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเสียงอะไร เมื่อรับฟังแล้วไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างถูกต้อง
3.5 การจำแนกโดยการฟัง ได้แก่ ความสามารถแยกความแตกต่างของเสียงที่ได้ยิน โดยเฉพาะเสียงที่คล้ายคลึงกัน เช่น กิน หิน ดิน
3.6 การจำโดยการฟัง หมายถึงการไม่สามารถจดจำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้โดยไม่ลืม4. ความผิดปกติในกรเคลื่อนไหว จำแนกได้ 3 ลักษณะ คือ
4.1 Hyperactivity เป็นการเคลื่อนไหวเกินปกติ เด็กพวกนี้จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ในลักษณะการทำซ้ำ และเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดหมาย หากจับให้นั่งอาจเคาะมือ เท้า แทนการเดิน
4.2 Hypoactivity เป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า หรือน้อยกว่าปกติ อาจนั่งอยู่กับที่ได้นานๆ โดยไม่ทำอะไรเลย
4.3 Incoordination เป็นการเคลื่อนไหวที่ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ เช่น เดินไม่ตรง รับลูกบอลไม่ได้ การใช้นิ้วมือในการหยิบจับสิ่งของไม่ได้ หรือตัดกระดาษด้วยกรรไกรไม่ได้
5. ปัญหาในด้านอารมณ์และสังคม หมายถึงคามรู่สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง ขาดความอดทน มีความวิตกกังวลสูง ต่อต้านสังคม ทำงานช้า ก้าวร้าว และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตนเอง อาจไม่มีเพื่อนเพราะไม่มีใครอยากคบ6. ปัญหาในการจำ ได้แก่ การมีปัญหาในด้านการจำในสิ่งที่ได้ยินและจำในสิ่งที่มองเห็น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการสะกดคำ การทำตามคำสั่ง ตลอดจนสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
7. ปัญหาในด้านความสนใจ หมายถึง การมีช่วงความสนใจสั้น เพราะขาดสมาธิย่อมมีผลต่อการเรียนได้
จะเห็นได้ว่านักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ มีความบกพร่องที่ต้องการผู้ที่เข้าใจในปัญหามาร่วมกันพัฒนา และช่วยแก้ไข เพราะเด็กแต่ละคนมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านการคัดกรองจากผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ สำหรับบทความนี้ เป็นการทำความเข้าใจให้ผู้อ่านได้รู้จักกับนักเรยีนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้เป็นเบื้องต้นไว้ก่อน
ที่มา :
กระทรวงศึกษาธิการ. “มาทำความรู้จัก ผู้เรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ด้วยกัน”. วารสารวิชาการ . ปีที่ 10
ฉบับที่ 1 , (2550) : หน้า 62

No comments:

Post a Comment