Thursday, January 8, 2009

"การสอนซ่อมเสริมนั้นสำคัญไฉน" โดย ดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ

การสอนซ่อมเสริมนั้นสำคัญไฉน
ครูและผู้เกี่ยวข้องควรต้องทบทวนแนวทางการจัดสอนซ่อมเสริมจริงหรือ
การสอนซ่อมเสริม(Remedial Teaching)
ความสำคัญ
การสอนซ่อมเสริม มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการเรียนการสอนทุกวิชาให้มีประสิทธิภาพทั้งนี้เพราะผู้เรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล จึงต้องการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน การสอนซ่อมเสริมเป็นการจัดการเรียนการสอนลักษณะหนึ่ง ซึ่งตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน การจัดการศึกษาควรตั้งอยู่บนพื้นฐานดังต่อไปนี้ (ผดุง อารยะวิญญู ๒๕๓๙ : ๑๗)
๑. ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม
๒. ผู้เรียนแต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน และแต่ละคนจะต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้าหากัน และให้ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
๓. ผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีความสามารถอยู่ในตัวมากบ้างน้อยบ้าง การศึกษาจะช่วยให้ความสามารถของผู้เรียนปรากฏเด่นชัดขึ้น
๔. ในสังคมมนุษย์นั้นย่อมมีทั้งคนปกติและคนพิการ ในเมื่อเราไม่สามารถแยกคนพิการออกจากสังคมของคนปกติได้ เราก็ไม่ควรแยกให้การศึกษาแก่ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้มีโอกาสเรียนร่วมกับคนปกติเท่าที่สามารถจะทำได้
๕. การให้การศึกษาควรมีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้เรียนได้มีศักยภาพการเรียนรู้ได้เต็มที่
ในปัจจุบันมีผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสอนซ่อมเสริมมากเพราะเห็นว่า สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนโดยองค์รวม การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองตามความแตกต่างระหว่างบุคคล จากการเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริมดังกล่าว นักการศึกษาจึงได้พยายามแสวงหาแนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบต่างๆ ดังจะแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังนี้ (ดวงเดือน อ่อนน่วม ๒๕๓๓ :๑๕)
๑. การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กสามารถพิเศษ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กที่มีความสามารถเด่นกว่าเด็กปกติ ซึ่งจัดทำในหลากหลายลักษณะ เช่น
๑.๑ จัดชั้นเรียนให้เฉพาะเด็กสามารถพิเศษ การจัดชั้นเรียนแบบนี้เป็นการจัดกลุ่มตามความสามารถ โดยแยกกลุ่มเด็กสามารถพิเศษออกมาจากกลุ่มเด็กปกติ การแยกกลุ่มอาจเป็นแบบเต็มวัน ครึ่งวัน หรือเฉพาะบางเวลา โดยอาจจัดทำหลายครั้งต่อสัปดาห์ หรือเพียงสัปดาห์ละครั้ง
๑.๒ โรงเรียนฤดูร้อน เป็นการใช้เวลาว่างช่วงฤดูร้อนส่งเสริมความสามารถทางวิชาการให้แก่เด็กสามารถพิเศษ ซึ่งอาจทำในรูปของการเร่งการเรียน คือเรียนหลักสูตรที่สูงกว่าระดับปกติ หรืออาจเป็นการเสริมหลักสูตรปกติ
๒. การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กด้อยกว่าปกติ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความด้อยกว่าปกติทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ตัวอย่างเช่น
๒.๑ เด็กเรียนช้า (ไอคิว ระหว่าง ๘๐ - ๙๕)
๒.๒ เด็กปัญญาทึบ (ไอคิว ระหว่าง ๖๐ - ๘๐)
๒.๓ เด็กที่บกพร่องทางสายตา
๒.๔ เด็กที่บกพร่องทางการฟัง
สำหรับไอคิว เด็กปกติ ประมาณ ๙๐ – ๑๐๙
๓. การจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปกติ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนปกติที่อยู่ในชั้นเรียนทั่วไป ตัวอย่างเช่น
๓.๑ การแบ่งกลุ่มตามความสามารถ ซึ่งอาจทำโดยแบ่งแยกผู้เรียนเป็น ๓ กลุ่ม คือ เก่ง ปานกลาง และอ่อน โดยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถใกล้เคียงกันเรียนอยู่ห้องเดียวกัน หรืออาจจะเป็นการแบ่งกลุ่มภายในห้องเรียนเดียวกัน
๓.๒ การสอนตามเอกัตภาพ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนแต่ละคนเรียนก้าวหน้าไปตามความสามารถของตนเอง ตัวอย่างเช่น โปรแกรม IPI (Individually Prescribed Instruction) ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โปรแกรมนี้ประกอบด้วยชุดการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคำนวณ ซึ่งประกอบด้วยสื่อการสอนหลายประเภท เช่น แบบเรียน แผ่นปลิวสำหรับฝึกทักษะ แบบสอบ ครูมีหน้าที่บันทึกความก้าวหน้าของผู้เรียนวินิจฉัยการเรียนและกำหนดโปรแกรม นอกจากนี้ครูอาจสอนเพิ่มเติมเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มย่อยตามความต้องการของผู้เรียน เมื่อสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนดก็เรียนเรื่องอื่นต่อไป
อย่างไรก็ตามนักการศึกษาได้พยายามแสวงหารูปแบบใหม่
อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การจัดการเรียนการสอนแบบ IGE (Individually Guided Education) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Wisconsin Research and development Center for Cognitive Learning กล่าวโดยสรุป การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนสามารถทำกันได้หลายลักษณะ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลได้
ความหมาย
การสอนซ่อมเสริม (Remedial Teaching) หมายถึง การสอนเด็กที่พัฒนาด้านการเรียนยังไม่เต็มความสามารถในการเรียนตามปกติ โดยการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆที่จะมีผลต่อการเรียน ขจัดการเรียนรู้ที่ไม่ถูกวิธี ตลอดจนเสริมทักษะในการเรียนรู้ใหม่ๆ การสอนซ่อมเสริมจะเน้นเด็กเป็นหลัก เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตน การที่ครูจะใช้วิธีสอนนักเรียนทุกคนให้เหมือนกันหมด ประหนึ่งว่านักเรียนทุกคนมีความรู้ ความสามารถระดับเดียวกัน ย่อมทำให้การสอนไม่บังเกิดผลดีทำให้เด็กบางคนไม่สามารถพัฒนาไปได้ดีเท่าที่ควร เมื่อถูกละเลยนานเข้าปัญหาต่างๆก็ทับทวีจนยากต่อการแก้ไข ด้วยเหตุนี้การสอนซ่อมเสริมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง (ศรียา นิยมธรรม และ ประภัสร นิยมธรรม ๒๕๒๕ : ๔๗)
พื้นฐานแนวคิดของคำ
การจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริม มีคำหลักๆ ๒ คำ ได้แก่ คำว่า “การสอนซ่อม” และ “การสอนเสริม” กล่าวคือ
การสอนซ่อม เป็นการสอนเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง การสอนซ่อมและการวินิจฉัยเป็นของ คู่กัน กล่าวคือ การวินิจฉัยที่มีคุณค่าจะต้องติดตามด้วยการสอนซ่อม เช่นเดียวกับการสอนซ่อมที่มีคุณค่าจะต้องเป็นการสอนซ่อมที่ดำเนินการต่อจากการวินิจฉัย การสอนซ่อมใดที่ดำเนินไปโดยปราศจากการวินิจฉัย กล่าวคือ สอนไปโดยไม่ทราบข้อบกพร่องของนักเรียนการสอนซ่อมนั้นย่อมไร้จุดหมายที่แน่นอน จึงไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนเท่าที่ควร
ครูพึงระลึกอยู่เสมอว่ามีวิธีการต่างๆอย่างหลากหลายวิธีที่ครูสามารถเลือกมาจัดเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อขจัดข้อบกพร่องของเด็กได้ ดังจะเสนอแนะไว้เป็นแนวทางบางประการดังนี้ (Ashlock ๑๙๘๒ : ๑๔ – ๑๗)
๑. กระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการประเมินตนเอง ด้วยการมีส่วนร่วมในกระบวนการวัดและประเมินผล เพื่อหาข้อบกพร่องในการเรียนของตนเอง
๒. คำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียนในแง่ของการมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ ความคิดรวบยอดย่อย ก่อนที่จะเรียนรู้ความคิดรวบยอดใหม่ซึ่งซับซ้อนกว่าเดิม
๓. คำนึงถึงความรู้สึกของผู้เรียนที่มีต่อตนเอง คือ ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าตนเองยังเป็นคนมีคุณค่าละสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองได้
๔. การสอนซ่อมควรพยายามให้เป็นการสอนรายบุคคลให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าบางครั้งครูจำเป็นต้องสอนซ่อมเป็นกลุ่ม ผู้เรียนแต่ละคนก็ต้องได้รับการดูแลแก้ไขเป็นรายบุคคลด้วย
๕. สร้างโปรแกรมการสอนซ่อมบนรากฐานของการวินิจฉัยการเรียน
๖. วางแผนการสอนซ่อมอย่างเป็นลำดับขั้น พยายามให้ง่าย ไม่ซับซ้อน
๗. พยายามเลือกวิธีสอนที่แตกต่างไปจากวิธีสอนเดิมที่เคยเรียนไปแล้ว เพราะผู้เรียนมักมีความกังวล หรือเกิดความรู้สึกกลัวต่อวิธีการเดิม ซึ่งทำให้ตนไม่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว
๘. ใช้กิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ประสบการณ์ที่กว้างขวางแก่ผู้เรียน ซึ่งประสบการณ์ที่หลากหลายเหล่านี้จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพความรู้ ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
๙. สนับสนุนให้ผู้เรียนได้จัดกระทำกับวัตถุให้มากที่สุดเท่าที่ตนเองเห็นว่าจะช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นการเสียเวลา
๑๐. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกถึงความเข้าใจด้วยภาษาของตนเอง
๑๑. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจจากกิจกรรมที่ครูเตรียมไว้ให้ โดยที่กิจกรรมเหล่านั้นจะต้องเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน
๑๒.จัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดด้วยความรอบคอบ โดยเริ่มจากประสบการณ์รูปธรรมไปสู่ประสบการณ์กึ่งรูปธรรมและไปสู่การใช้สัญลักษณ์ในที่สุด
๑๓. เน้นการจัดระบบการเรียนรู้โดยนำผลการเรียนรู้ใหม่ไปผสมผสานกับผลการเรียนรู้เดิม ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลการเรียนรู้ใหม่ที่มีความหมายต่อตัวผู้เรียนดียิ่งขึ้น
๑๔. เน้นทักษะและความสามารถอันเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียน เช่น เด็กที่คิดคำนวณผิดจะสามารถคิดคำนวณได้แม่นยำขึ้นถ้ามีความสามารถในการกะประมาณ ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาคำตอบว่าน่าจะถูกต้องหรือไม่
๑๕. ให้ความสนใจเรื่องลายมือ เพราะผู้เรียนจำนวนไม่น้อยที่คิดคำนวณผิดเพราะเขียนตัวเลขไม่ชัดเจน ทำให้ตนเองอ่านตัวเลขผิด จึงคิดคำนวณผิดไปด้วย
๑๖. การฝึกหัดควรทำหลังจากที่ผู้เรียนเข้าใจเรื่องที่เรียนดีแล้ว
๑๗. สร้างแรงจูงใจโดยเลือกกิจกรรมการฝึก ซึ่งเห็นผลได้ทันทีว่าคำตอบของผู้เรียนถูกหรือผิด
๑๘. ในเรื่องการฝึกทักษะการคิดคำนวณ ควรฝึกโดยใช้ระยะเวลาสั้นๆแต่ฝึกบ่อยๆ
๑๙. ฝึกให้ผู้เรียนสนใจและเอาใจใส่ต่อความก้าวหน้าของตนเอง เช่น ให้ผู้เรียนเก็บแผนภูมิและกราฟแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของตนไว้
การสอนเสริม หลังจากการเรียนการสอนตามจุดประสงค์
แล้ว ครูอาจพบว่ามีผู้เรียนบางคนที่มีความสามารถสูง สามรถทำความเข้าใจบทเรียนได้เร็ว ทำแบบฝึกหัดเสร็จก่อนคนอื่น แสดงว่ามีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นได้ ครูจึงควรมีวิธีการสอนเสริม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพื่อให้การสอนเสริมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครูควรคำนึงถึงหลักการ ดังต่อไปนี้ (ดวงเดือน อ่อนน่วม ๒๕๓๓ : ๑๓๕-๑๓๖)
๑. สิ่งที่ไม่ควรทำ
๑.๑ ไม่ควรให้การสอนเสริมเป็นเพียงเพื่อให้ผู้เรียนมีอะไรทำเท่านั้น เพราะจะไม่ช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้สูงขึ้น
๑.๒ ไม่ควรให้การสอนเสริมอยู่ในรูปของการให้งานแก่ผู้เรียนมากกว่าเดิม เช่นให้แบบฝึกหัดเพิ่ม เพราะการกระทำนี้นอกจากจะไม่เร้าความสนใจแล้วยังอาจทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเหมือนถูกทำโทษ
๒. สิ่งที่ควรทำ
๒.๑ การเสริมการเรียนในแนวกว้างและแนวลึก ซึ่งมีความหมายดังนี้
๒.๑.๑ การเสริมการเรียนในแนวกว้าง หมายถึง การขยายขอบเขตของหลักสูตรปกติให้กว้างขึ้น โดยยังสัมพันธ์หรือต่อเนื่องกับหลักสูตรปกติและอยู่ในวิสัยที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้
๒.๑.๒ การเสริมการเรียนในแนวลึก หมายถึง การที่ผู้เรียนศึกษาตามหลักสูตรปกติอย่างลึกซึ้งและเข้มข้นขึ้น เช่น ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาและแก้ปัญหาที่ท้าทายความสามารถ เสริมทักษะการคิดระดับสูง เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การคิดอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
๒.๒ กิจกรรมควรมีลักษณะต่างๆเหล่านี้ เช่น ท้าทาย เร้าความสนใจสนุก ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาสติปัญญา ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา การคิดอย่างมีเหตุผล
๒.๓ ประสบการณ์ที่จัดให้กับผู้เรียนควรมีทั้งแบบทั่วไปและแบบเจาะลึก กล่าวโดยสรุป ในการสอนซ่อมเสริม ครูควรมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความสามารถตามศักยภาพของผู้เรียนที่แตกต่างกันอย่างมีวัตถุประสงค์และต้องมีการวางแผน จึงจะทำให้การสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเภทของผู้เรียนที่ควรรับการสอนซ่อมเสริม
ผู้ที่ควรได้รับการสอนซ่อมเสริม อาจจำแนกได้เป็น ๖ ประเภท คือ (ศรียา นิยมธรรม และ ประภัสร นิยมธรรม ๒๕๒๕ : ๔๗)
๑. ผู้ที่เรียนช้า ได้แก่ ผู้ทีที่มีไอคิวระหว่าง ๗๐-๙๐ คนเหล่านี้มีความสามารถจำกัด จึงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ และเรียนรู้ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ยังขาดทักษะเบื้องต้นต่างๆ ซึ่งทำให้การเรียนยิ่งช้าลงไปอีก เป็นผลให้เด็กเกิดความท้อแท้และมีปัญหาจึงควรได้รับการสอนเสริม
๒. ผู้ทีมีปัญญาเลิศ ปกติคนกลุ่มนี้จะถูกละเลยเพราะครูคิดว่าเป็นผู้ที่สามารถช่วยตัวเองได้ การสอนตามปกติมักทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จึงควรได้รับการสอนซ่อมเสริม เพื่อพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ให้เต็มตามศักยภาพ
๓. ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาการเรียนอันเนื่องมาจากความบกพร่องทางสภาพร่างกาย เช่น หูหนวก ตาบอด ปัญญาอ่อน ฯลฯ เป็นต้น
๔. ผู้ที่มีปัญหาในการเรียนรู้เฉพาะอย่าง คนเหล่านี้ไม่ใช้ผู้พิการ แต่มีความบกพร่องเกี่ยวกับระบบประสาท มีปัญหาในการเรียนบางเรื่อง เช่น การรับรู้ การฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียนและมักมีช่วงความสนใจสั้น จึงควรได้รับการสอนซ่อมเสริมตามความจำเป็น
๕. ผู้ที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ทำให้มีผลการเรียนต่ำกว่าระดับสติปัญญา และขีดความสามารถที่มี ทั้งนี้อันเนื่องมาจากการไม่ตั้งใจเรียน ขาดแรงจูงใจในการเรียน มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ หรือมีจิตใจแปรปรวนง่าย
๖. ผู้ทีมีประสบการณ์และภูมิหลังจำกัด ได้แก่ ผู้ที่มาจากครอบครัวซึ่งยึดมั่นในวัฒนธรรมหรือความเชื่อบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ รวมถึงผู้ที่มาจากครอบครัวที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีปัญหาทางภูมิศาสตร์ เช่น ชาวเขา ชาวเรือ ทำให้ขาดโอกาสที่จะแสวงหาประสบการณ์ ความรู้ อย่างที่บุคคลทั่วไปรู้จักและเรียนรู้ ดังนั้นเมื่อคนเหล่านี้มาเรียนในโรงเรียนปกติจึงต้องการการสอนซ่อมเสริม
การประยุกต์ใช้
การนำความคิดการสอนซ่อมเสริมไปใช้ในชั้นเรียนปกติสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ และได้กำหนดให้มีการสอนซ่อมเสริมแก่ผู้เรียน ซึ่งไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ในวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาในประเด็นที่ว่า ครูยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันและมักมีความเข้าใจผิดกันอยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่องของการจัดประเภทผู้เรียนที่จะเข้ารับบริการสอนซ่อมเสริม การวินิจฉัยปัญหา ตลอดจนวิธีการสอนซ่อมเสริม คือ ผู้ที่เรียนช้า สติปัญญาต่ำ การสอนซ่อมเสริมจึงมุ่งเฉพาะผู้ที่เรียนอ่อน และจุดประสงค์ในการสอนซ่อมเสริมก็เพื่อที่จะให้เรียนทันเพื่อน ทันหลักสูตร และสอบผ่านเท่านั้น วิธีการสอนก็มักทำโดยการสอนพิเศษ คือ เพิ่มเวลาสอนโดยสอนซ้ำวิธีการเดิม ให้ทำแบบฝึกหัดมากขึ้น ไม่ได้พิจารณาถึงการนำสื่อการสอนที่เหมาะสมมาใช้ ผลก็คือผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย เคร่งเครียดจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และหาทางออกด้วยการเกเร แกล้งเพื่อน หนีโรงเรียน ฯลฯ เป็นต้น (ศรียา นิยมธรรม และ ประภัสร นิยมธรรม ๒๕๒๕ : ๔๙)
บรรณานุกรม
ดวงเดือน อ่อนน่วม. การสอนซ่อมเสริมคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๓.
ผดุง อารยะวิญญู. การศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แว่นแก้ว,๒๕๓๙.
ศรียา นิยมธรรม และ ประภัสร นิยมธรรม. การสอนซ่อมเสริม.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พีระพัธนา,๒๕๒๕.
Ashlock, R.B. Error Patterns in Computation. Ohio : Bell & Howell Co., ๑๙๘๒.

No comments:

Post a Comment